
การเกิดความรู้สึกหิวถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะโดยปกติแล้วร่างกายจำเป็นต้องได้รับอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จึงไม่แปลกว่าทำไมคุณสามารถรู้สึกหิวเมื่อไม่ได้ทานอาหาร 3-4 ชั่วโมง แต่ก็จะเริ่มไม่ปกติหากกระเพาะอาหารของคุณยังคงส่งเสียงร้อง แม้ว่าคุณเพิ่งทานอาหารได้ไม่นาน บางทีร่างกายอาจกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้คุณรู้ค่ะ ใครที่รู้ตัวว่าหิวบ่อย ลองมาดูกันดีกว่าว่ามันสามารถเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความอ้วน

1.โรคเบาหวาน
โดยปกติแล้วร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลในอาหารที่คุณทานเข้าไปเป็นกลูโคส ซึ่งเป็นแหล่งของพลังงาน แต่ถ้าเป็นโรคเบาหวาน กลูโคสจะไม่สามารถเข้าไปยังเซลล์ต่าง ๆ และร่างกายจะขับกลูโคสออกมากับปัสสาวะแทน เมื่อร่างกายไม่ได้รับพลังงาน ก็จะส่งสัญญาณบอกให้คุณทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 1 ที่อาจทานอาหารมาก แต่น้ำหนักตัวยังคงลดลง
2.นอนไม่เพียงพอ
การนอนกับความหิวมีความสัมพันธ์กันค่ะ เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอสามารถส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกายที่ควบคุมความหิว คนที่นอนไม่พอมักจะมีปัญหาหิวบ่อยกว่าปกติ และทานเท่าไรก็ไม่รู้สึกอิ่ม อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะอยากทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูงเมื่อรู้สึกเหนื่อย สำหรับผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดจากการนอนน้อย เช่น อารมณ์แปรปรวน ง่วงนอนระหว่างวัน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ไม่กระตือรือร้น ฯลฯ
3.ความเครียด
เมื่อคุณวิตกกังวลหรือเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” ซึ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกหิวมากขึ้น ทั้งนี้คนที่อยู่ในภาวะเครียดจะรู้สึกกระหายอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูงเช่นกัน เพราะร่างกายอาจพยายามที่จะหยุดสมองส่วนที่ทำให้คุณรู้สึกกังวล สำหรับอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้เมื่อเครียด เช่น อารมณ์ฉุนเฉียว อ่อนแรง ปวดศีรษะ มีปัญหากับการนอน ท้องไส้ปั่นป่วน ฯลฯ

4.อาหาร
บรรดาขนมปังขาว อาหารแปรรูป และฟาสต์ฟู้ด ล้วนแต่มีไขมันสูงและไม่มีคาร์บชนิดที่ดีต่อสุขภาพ หากคุณทานอาหารเหล่านี้มาก ก็อาจหิวเร็วขึ้น และทานมากกว่าที่ควร ในขณะที่อาหารที่มีโปรตีน ไฟเบอร์ หรือไขมันชนิดดีสูง จะสามารถทำให้คุณรู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้น ตัวอย่างเช่น
- อาหารที่มีโปรตีนสูง: เนื้อสัตว์ปลอดมัน ปลา หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม
- อาหารที่มีไฟเบอร์สูง: ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด และถั่ว
- อาหารที่มีไขมันชนิดดีสูง: ถั่ว ปลา และน้ำมันดอกทานตะวัน
5.ยา
ยาบางชนิดสามารถทำให้คุณรู้สึกหิวมากกว่าปกติ เช่น ยาที่ใช้รักษาภูมิแพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาสเตียรอยด์ ยาโรคเบาหวานบางชนิด และยารักษาโรคจิต หากคุณสังเกตว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มทานยา บางทียาอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกหิว ในกรณีนี้ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน
6.ตั้งครรภ์
คนที่กำลังเป็นคุณแม่อาจสังเกตว่าตัวเองทานจุมากกว่าปกติ เพราะเด็กในท้องจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพื่อเจริญเติบโต ทั้งนี้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 4-6 ปอนด์ (1.8-2.7 กิโลกรัม) ในระหว่าง 3 เดือนแรก และเพิ่มประมาณ 1 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (ประมาณ 1.8 กิโลกรัม) ในระหว่างไตรมาสที่สองและสาม
7.ต่อมไทรอยด์มีปัญหา
ไทรอยด์เป็นต่อมที่มีรูปร่างเหมือนผีเสื้อ ซึ่งพบได้บริเวณคอ ต่อมชนิดนี้ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือที่เรียกว่า Hyperthyroidism นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการหิวบ่อยแล้ว ก็ยังมีอาการประหม่า ชีพจรเต้นเร็ว มีเหงื่อมากกว่าปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหิวน้ำ
แหล่งที่มา webmd.com/diet/reasons-always-hungry#1